กรด และ ด่าง อีกหนึ่งรากเหง้าของปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรัง

(บทความดีๆเพื่อให้คุณก้าวย่างสู่วัยเลข 4 อย่างมั่นใจ โดย พลอากาศตรี นายแพทย์ ขวัญชัย เศรษฐนันท์)

                ทุกครั้งที่รับประทานอาหารคนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงรสชาด จำนวนแครอลี่ที่จะได้ ปริมาณของโปรตีน ความสด สะอาด และรูปร่างหน้าตาของอาหารที่บริโภค แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งต่อความสุขภาพที่ดีและเราไม่เคยนึกถึงหรือบางท่านอาจไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำว่ามันมีความสำคัญอย่างไร นั่นก็คือความเป็นกรดเป็นด่างของร่างกายที่จะเปลี่ยนแปลงหลังจากการบริโภคอาหารนั้นๆ

คนจำนวนไม่น้อยที่บริโภคอาหารโดยพิจารณาอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เป็นอาหารออแกนิก ปราศจากสารพิษ ปราศจากเชื้อโรค มีโปรตีนสูงเพราะคิดว่าโปรตีนเป็นอาหารที่สำคัญที่สุด และไม่ทำให้อ้วน และผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่า สุขภาพโดยรวมไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่เข้าใจ ทั้งนี้เพราะร่างกายเกิดความผิดปกติจากการเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรดและด่าง ภาษาทางวิทยาศาสตร์ก็คือ pH ของร่างกายผิดเพี้ยน เสียสมดุลย์ไป ความไม่สมดุลย์ของ pH ของร่างกายจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพนานาชนิดในระยะยาว ตั้งแต่ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ง่วงเหงาหาวนอน นอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย เหนื่อยง่าย โรคเรื้อรังต่างๆจนกระทั่งมะเร็ง

pH-นั้นสำคัญไฉน

ร่างกายเราควรมีความเป็นด่างมากกว่าความเป็นกรด ทว่าอาหารสมัยใหม่ที่เน้นรสชาด หน้าตา กลิ่นหอมเย้ายวนใจ และอุดมด้วยโปรตีนและคาร์โบไฮเดรท ล้วนเป็นอาหารที่เปลี่ยนร่างกายให้เป็นกรดทั้งสิ้น เมื่อถึงระดับหนึ่งร่างกายต้องทำการ Neutralize หรือเปลี่ยนสภาพกรดให้เป็นกลาง หรือเป็นด่าง หากว่าร่างกายไม่สามารถทำการ Neutralize ได้ ภาวะความเป็นกรดจะยิ่งมากขึ้น เกิดภาวะ “Acidosis” กัดกินเนื้อเยื่อต่างๆ ทำลายอวัยวะสำคัญลงทีละเล็กละน้อยโดยเราไม่รู้สึกตัว ตรวจร่างกายอย่างไรก็ไม่พบว่าป่วยเป็นอะไรที่คุณหมอเรียกว่าโรค ภาวะหลายอย่างที่มิใช่โรค เช่น การอ่อนเพลียง่าย เวียนศีรษะหรือปวดศีรษะบ่อยๆ น้ำหนักเกิน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ภาวะเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความไม่สมดุลย์ภายใน หากเราไม่จัดการให้ภาวะนี้หายไปหรือทุเลาลง โรคร้ายที่ไม่พึงปรารถนาจะตาม หากรอจนถึงเวลานั้นก็เป็นการยากที่จะแก้ไข และโรคบางอย่างเราไม่เคยเอาชนะมันได้เลย หากไม่จัดให้เกิดความสมดุลย์ภายในร่างกายเสียก่อน

 

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

ผู้คนเป็นจำนวนมากประสบปัญหาในการควบคุมตัวเองให้ได้รับแต่อาหารที่เป็นด่าง ทั้งนี้เพราะในการควบคุมภาวะความเป็นกรดให้กลับมาเป็นกลางหรือเป็นด่าง เราต้องหยุดอาหารหลายประเภทที่ล้วนอยู่ในรายการอาหารที่ยากจะต่อต้าน ได้แก่ เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์  นมและผลิตภัณฑ์จากนม อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงต่างๆ แอลกอฮอล์  กาแฟ น้ำอัดลม ช็อคโกแลต ของหวาน ฯลฯ ดังนั้นหากท่านเคยชินกับการบริโภค Fast Food จึงเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะควบคุมระดับ pH ให้เป็นกลางหรือเป็นด่าง เพราะอาหารเหล่านั้นล้วนเป็นอาหารที่สร้างความเป็นกรดทั้งสิ้น

 

อาหารที่ทำให้เป็นด่าง

โดยหลักการที่ถูกต้อง อาหาร ¾ ที่เราบริโภคควรเป็น Alkaline Food นั่นหมายถึง ทุกครั้งที่บริโภคเราต้องการอาหารที่เป็นด่าง 3ส่วน บริโภคอาหารที่เป็นกรดเพียง 1ส่วน ดังนั้นอาหารที่เราควรมีอยู่ประจำ ครัว หรือทุกครั้งที่จ่ายตลาด คือ

  • ผักสด: กะหล่ำปลี คะน้า แครอท ใบตำลึง ผักกาดแก้ว ผักกาดหอม ผักกาดขาว บลอคเคอรี่ เซลารี่ หน่อไม้ฝรั่ง หน่อไม้ หอมหัวใหญ่ หอมแดง ใบบัวบก ใบชะพลู ถั่วฝักยาว ถั่วต่างๆ แตงกวา ฯลฯ
  • ผลไม้: มะนาว มะม่วง ส้มโอ สัปรด มะละกอ แตงโม แอปเปิ้ล กล้วย ฝรั่ง ชมพู่ เบอรี่ต่างๆ แคนตาลูป องุ่น พีช แพร์ กีวี ส้ม มะพร้าว กระท้อน ทับทิม ฯลฯ
  • ธัญพืช และลูกนัท: เมล็ดฟักทอง งา เมล็ดปอ เมล็ดแตงโม เมล็ดดอกทานตะวัน อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ ถั่วแระ
  • เครื่องดื่ม: น้ำบริสุทธิ์ น้ำแร่ น้ำผลไม้คั้นสด (ไม่ใส่น้ำตาล) นมถั่วเหลืองจืด นมอัลมอนด์ ชาสมุนไพร
  • ไขมันและน้ำมัน: น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดปอ น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส น้ำมันมะพร้าว

อาหารเหล่านี้หลายอย่างเป็นกรดโดยธรรมชาติ แต่เมื่อผ่านกระบวนการย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นด่างในร่างกาย เช่นผลไม้บางชนิด ที่มีรสเปรี้ยวล้วนช่วยเพิ่มความเป็นด่างให้แก่ร่างกาย ยกเว้นผลไม้ที่เปรี้ยวจากการหมักดอง รสเปรี้ยวจากกรดที่ใช้หมักดองไม่ได้ช่วยให้เพิ่มความเป็นด่างแก่ร่างกายแต่อย่างได แต่กลับเป็นโทษ เนื่องจากกรดที่ใช้หมักดองอาหารมักเป็นอันตรายต่อผนังกะเพาะอาหารและเยื่อบุลำใส้ อันเป็นเหตุของภาวะลำใส้รั่ว (Leaky gut syndrome)

ทราบดังนี้แล้วหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะพอได้แนวทางที่น่าสนใจอีกแนวทางหนึ่งในการเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของท่านนะครับ